เปาโลมีสองชื่อ คือ เปาโล (เทียบ กจ 13:9; รม 1:1; กท 1:1) และเซาโล (เทียบ กจ 7:58) 
ท่านเกิดที่เมืองทาร์ซัส ประมาณปีที่ 15 และ 5 ก่อนคริสตกาล เรารู้ว่าท่านยัง “หนุ่ม” 
เมื่อท่านมีส่วนร่วมในการขว้างหินใส่สเทเฟน (เทียบ กจ 7:58; 8:1) (ประมาณ ค.ศ. 36) 
ท่านเรียกตนเองว่า “คนชรา” เมื่อท่านเขียนจดหมายถึงฟีเลโมน (เทียบ ฟม 9) จากคุกโรมันระหว่างปี ค.ศ. 61 และ 63

เปาโลถือว่าตนเองเป็นชาวยิวอพยพ “ข้าพเจ้าได้รับพิธีสุหนัตเมื่อเกิดมาได้แปดวัน เป็นเชื้อสายชนชาติอิสราเอล จากตระกูลเบนยามิน
เป็นชาวฮีบรู เกิดจากชาวฮีบรู ในด้านธรรมบัญญัติ เป็นชาวฟาริสี ในด้านความกระตือรือร้น เป็นผู้เบียดเบียนพระศาสนาจักร
ในด้านความชอบธรรมตามธรรมบัญญัติ ไม่มีสิ่งใดจะตำหนิข้าพเจ้าได้” (ฟป 3:5-6)

เปาโลกล่าวถึงการอบรมศึกษาของท่านในคำปราศรัยเป็นภาษาฮีบรู เมื่อท่านถูกทหารโรมันจับกุม
หลังจากการกบฏของชาวยิวในพระวิหารในกรุงเยรูซาเล็ม ว่า
 “ข้าพเจ้าเป็นชาวยิว ... เกิดที่เมืองทาร์ซัส ในแคว้นซีลิเซีย 
แต่เติบโตในเมืองนี้ กามาลิเอลเป็นอาจารย์สอนข้าพเจ้าให้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด
ข้าพเจ้ารับใช้พระเจ้าด้วยความกระตือรือร้นอยู่เสมอเช่นเดียวกันกับที่ท่านทั้งหลายปฏิบัติอยู่ในวันนี้
 
(กจ 22:3; เทียบ 26:5; 2 คร 11:22; ฟป 3:6)

จากข้อความนี้ เราจึงทราบว่าเปาโลมาจากครอบครัวชาวยิว ที่มีถิ่นกำเนิดในปาเลสไตน์ ซึ่งยังใช้ภาษาอาราเมอิก
และต่างจากชาวยิวที่พูดภาษากรีก ครอบครัวของท่านจะต้องมีฐานะดี ดังที่สามารถสรุปได้จากความจริงที่ว่า
ท่านได้สัญชาติโรมันมาตั้งแต่เกิด และได้ถูกส่งตัวไปศึกษาในกรุงเยรูซาเล็ม
 

ตามธรรมเนียมของชาวยิว เซาโลได้เรียนรู้มิใช่เพียงกฎหมาย แต่ยังเรียนรู้การประกอบอาชีพ 
ซึ่งในกรณีของท่านคือ “อาชีพทำกระโจม” (เทียบ กจ 18:3) 
อาชีพนี้ทำให้ท่านมีรายได้เลี้ยงชีพโดยไม่ต้องเป็นภาระให้แก่ชุมชนที่ท่านก่อตั้งขึ้น 
ท่านบอกบรรดาผู้อาวุโสแห่งเมืองเอเฟซัสอย่างภาคภูมิใจว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยอยากได้เงินทอง 
หรือเสื้อผ้าของผู้ใด ท่านก็รู้แล้วว่า ข้าพเจ้าทำงานด้วยมือทั้งสองนี้ เพื่อสนองความต้องการของข้าพเจ้า 
และของผู้ที่อยู่ด้วย”
(กจ 20:33-34; เทียบ 1 คร 4:12; 2 คร 12:13; 18:3; 1 ธส  2:9; 2 ธส 3:8)

สำหรับรูปร่างหน้าตาของท่าน เราไม่มีข้อมูลที่ปราศจากอคติ ยกเว้นถ้อยคำในจดหมายของท่านว่า 
“ท่านมองเห็นเพียงมนุษย์ครึ่งหนึ่ง” (2 คร 10:10) ท่านป่วยด้วยโรคอย่างหนึ่ง (กท 4:13) 
และท่านมี ‘หนามทิ่มแทงเนื้อหนัง’ (2 คร 12:7) แต่ท่านต้องมีร่างกายที่แข็งแรง 
ท่านรอดชีวิตจากการถูกหินทุ่ม จากการถูกเฆี่ยนตีอย่างทารุณ จากเรืออับปาง 3 ครั้ง 
ซึ่งระหว่างเรืออับปางครั้งหนึ่ง ท่านต้อง "ลอยคออยู่กลางทะเลหนึ่งคืนกับหนึ่งวัน” 
ท่านรอดชีวิตจากการเดินทางหลายครั้ง จากความกระหาย ความหิว 
การจำศีลอดอาหารบ่อย ๆ ต้องทนหนาว ไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ (เทียบ 2 คร 11:24-26)

หนังสือ “กิจการของเปาโล” ที่เขียนขึ้นในคริสตศตวรรษที่สอง ยังปรากฏคำบรรยายต่อไปนี้ 
“ท่านเป็นชายร่างเตี้ย ศีรษะล้าน ขาโก่ง หน้าตาดี คิ้วชิดกัน จมูกค่อนข้างแบน ท่าทางสง่างาม 
บางครั้งดูเหมือนมนุษย์ บางครั้งดูเหมือนทูตสวรรค์”

ในหนังสือ กิจการอัครสาวก นักบุญลูกา บรรยายถึงท่านว่าเต็มไปด้วยความเคียดแค้น 
“คุกคามจะฆ่าบรรดาศิษย์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (กจ 9:1) และก็จริงดังนั้น 
เพราะท่านมีส่วนร่วมในการฆ่าสเทเฟน (เทียบ กจ 7:58; 8:1; 22:20) ท่านยอมรับเองว่า 
“ข้าพเจ้าเบียดเบียนถึงตายผู้ที่ดำเนินตามวิถีทางนี้ (ของพระเยซูเจ้า) ข้าพเจ้าจับกุมทั้งชาย 
และหญิงจองจำไว้ในคุก ดังที่มหาสมณะ และสภาผู้อาวุโสทุกคนเป็นพยานยืนยันได้
เพราะเขามอบจดหมายให้ข้าพเจ้านำไปให้แก่บรรดาพี่น้องชาวยิวที่เมืองดามัสกัส
 
ข้าพเจ้าจึงออกเดินทางเพื่อไปจับกุมบรรดาคริสตชนซึ่งอยู่ที่นั่น นำกลับมายังกรุงเยรูซาเล็มเพื่อลงโทษ 

(กจ 22:4-5, เทียบ 8:3; กท 1:13-14; ฟป 3:6)

ระหว่างทางไปยังดามัสกัส ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มประมาณ 230 ก.ม. 
ท่านได้รับการเผยแสดงจาก “พระบุตรของพระเจ้า” (เทียบ กท 1:16) ท่านได้ละทิ้งวิถีชีวิตเดิม
และได้พบประสบการณ์แห่งการกลับใจอันเลื่องชื่อของท่าน

คำแก้ข้อกล่าวหาของท่านต่อหน้าชาวยิว ในกรุงเยรูซาเล็ม กล่าวไว้ดังนี้ 
“เวลาประมาณเที่ยงวัน ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเดินทางใกล้จะถึงเมืองดามัสกัส 
ทันใดนั้นมีแสงสว่างจ้าจากท้องฟ้าล้อมรอบตัวข้าพเจ้าไว้ ข้าพเจ้าล้มลงที่พื้นดิน 
และได้ยินเสียงพูดกับข้าพเจ้าว่า 
‘เซาโล เซาโล เจ้าเบียดเบียนเราทำไม’ 
ข้าพเจ้าจึงถามว่า ‘พระเจ้าข้า พระองค์คือใคร’ 
พระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘เราคือเยซูชาวนาซาเร็ธ ซึ่งเจ้ากำลังเบียดเบียนอยู่’ 

คนที่อยู่กับข้าพเจ้าเห็นแสงสว่างแต่ไม่ได้ยินเสียงคนที่พูดกับข้าพเจ้า 
แล้วข้าพเจ้าถามอีกว่า‘พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไร’ 
องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘จงลุกขึ้น เข้าไปในเมืองดามัสกัส 
ที่นั่นจะมีคนบอกทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงกำหนดให้เจ้าทำ’ แสงนั้นสว่างจ้าจนข้าพเจ้ามองไม่เห็นสิ่งใด 
ผู้ร่วมเดินทางกับข้าพเจ้าจึงจูงมือข้าพเจ้าเข้าไปในเมืองดามัสกัส 
ชายคนหนึ่งชื่ออานาเนีย เป็นผู้ยำเกรงพระเจ้า และปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ 
เป็นที่เคารพนับถือของชาวยิวทุกคนซึ่งอยู่ที่นั่น เขามาพบข้าพเจ้า ยืนใกล้ ๆ 
พูดกับข้าพเจ้าว่า ‘เซาโล น้องเอ๋ย จงกลับมองเห็นเถิด’ และในเวลานั้นเอง 
ข้าพเจ้าก็มองเห็นเขา อานาเนียบอกข้าพเจ้าว่า 
‘พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของเราทรงเลือกสรรท่านให้รู้พระประสงค์ของพระองค์ 

ให้เห็นพระคริสตเจ้าผู้ทรงชอบธรรม และได้ยินพระสุรเสียงจากพระโอษฐ์ของพระองค์ 
เพราะท่านจะเป็นพยานของพระองค์ ยืนยันสิ่งที่ท่านได้เห็น และได้ยินแก่มนุษย์ทุกคน 
บัดนี้ ท่านรออะไรอยู่อีกเล่า จงลุกขึ้น รับศีลล้างบาป และเรียกขานพระนามของพระองค์
ชำระล้างบาปของท่านเถิด’ “ (กจ 22:6-16; เทียบ กจ 9:1-19; 26:12-18)

สำหรับเปาโล การกลับใจคือการเกิดใหม่ ปลดเปลื้องท่านจากวิสัย “มนุษย์เก่า” 
และเปลี่ยนท่านให้เป็น “มนุษย์ใหม่” 
(เทียบ คส 3:9; อฟ 4:24) และเปลี่ยนความคิดเดิม อำเภอใจ 
และชีวิตเดิมของท่าน บัดนี้ ท่านดูหมิ่นสิ่งที่ท่านเคยคิดว่ามีคุณค่า เพื่อจะได้องค์พระคริสตเจ้ามาเป็นกำไร 
(เทียบ ฟป 3:7-8)

เปาโลไม่เคยยอมประนีประนอม ในฐานะชาวยิวคนหนึ่ง ท่านเชื่อทุกสิ่งที่โมเสสสั่งสอน 
และปฏิบัติตามธรรมบัญญัติทุกข้อ หลังจากกลับใจ เป้าหมายเดียวในชีวิตของท่านคือพระคริสตเจ้า 
“การมีชีวิตอยู่ก็คือพระคริสตเจ้า” 
(ฟป 1:21) ก่อนหน้านี้ท่านเคยเกลียดชังพระนามนี้ 
และเพราะพระนามนี้ ท่านได้จับชายและหญิงหลายคนขังคุก บัดนี้ พระนามนี้มีอิทธิพลเหนือความคิด 
และจิตใจของท่าน และเป็นต้นกำเนิดของกิจกรรมทั้งปวงของท่าน
ท่านบอกชาวกาลาเทียว่าต้นกำเนิดของการทุ่มเทอุทิศตนอย่างไม่มีขีดจำกัดของท่านคือ 
“ความเชื่อถึงพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรักข้าพเจ้า และทรงมอบพระองค์เพื่อข้าพเจ้า” (กท 2:20) 
ท่านอุทิศตนเองและทุกสิ่งที่ท่านครอบครองเพื่อรับใช้พระเยซูคริสตเจ้า 
เพื่อให้พระองค์ได้รับความรักจากชนทุกชาติ (เทียบ รม 1:14; 15:16) 
เมื่อพระเยซูคริสตเจ้าทรงชนะใจท่านแล้ว ชีวิตของท่านจึงกลายเป็น “การวิ่ง” ไปหาพระองค์ (เทียบ ฟป 3:12)

แม้ว่าพระเจ้าได้ทรงเลือกสรรท่านไว้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา (เทียบ กท 1:15) 
เปาโลก็ไม่ได้เป็นอัครสาวกมาตั้งแต่เกิด แต่กลายเป็นอัครสาวกในภายหลัง ท่านมองว่าตนเองเป็น 
“ผู้น้อยที่สุดในบรรดาอัครสาวก” “เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด” (เทียบ 1 คร 15: 8-9) 
แต่กระนั้น ท่านก็อวดว่าท่านเป็น “อัครสาวกที่ได้รับเลือกสรร” (เทียบ รม 1:1; 1 ทธ 2:7; 2 ทธ 1:11; 2 คร 5:16)

ในขณะที่เปโตร เป็นอัครสาวกผู้ประกาศข่าวดีแก่ชาวยิว (เทียบ กท 2:7) 
นักบุญเปาโล เรียกตนเองว่า “ธรรมทูตของชนต่างชาติ” 
(รม 11:13; เทียบ 15:16, 18; กจ 18:6; 22:21; 26:20; กท 1:16; 2:2, 8-9; คส 1:27; 1 ธส 2:16; 1 ทธ 2:7; 3:16) 
แม้ว่าท่านเริ่มต้นเทศน์สอนในศาลาธรรมในเมืองต่าง ๆ ก็ตาม หลังจากที่ชาวยิวปฏิเสธพระวรสารแล้วเท่านั้น 
เปาโล จึงหันไปเทศน์สอนแก่คนต่างศาสนา ดังที่เกิดขึ้นที่เมืองอันทิโอก ในแคว้นปิสิเดีย 
“จำเป็นที่เราจะต้องประกาศพระวาจาของพระเจ้าให้ท่านฟังก่อนผู้อื่น แต่เมื่อท่านปฏิเสธไม่ยอมรับ
และไม่คิดว่าตนเหมาะสมจะรับชีวิตนิรันดร เราจึงหันไปหาคนต่างศาสนา 
เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้ามีพระบัญชาแก่เราดังนี้” (กจ 13:45-47) 
ไม่นานก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตในโรม ท่านเรียก “ผู้นำชาวยิว” มาพบ เพื่อพูดให้เขาเชื่อเรื่องพระคริสตเจ้า 
หลังจากที่พวกเขาปฏิเสธ ท่านจึงกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงรู้เถิดว่า พระเจ้าทรงส่งความรอดพ้นนี้ให้กับคนต่างศาสนา 
และเขาจะรับฟัง” (กจ 28:29) การถูกปฏิเสธนี้ทำให้เปาโลเศร้าเสียใจ และมีความทุกข์ใจมากจนท่านพร้อมจะ 
“ถูกตัดขาดจากพระคริสตเจ้า ถ้าหากจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องของข้าพเจ้า ซึ่งมีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน” (รม 9:2-3)

นักบุญเปาโลไม่ได้เริ่มต้นเทศน์สอนพระวรสารด้วยตนเอง แต่ได้รับมอบหมายหน้าที่จากพระเจ้า 
และได้รับการรับรองจากบุคคลผู้เป็น “เสาหลักของพระศาสนจักร” (เทียบ กท 1:11-12; 2:9-10) 
ท่านอุทิศตนอย่างไม่มีเงื่อนไขให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ที่ท่านได้รับมอบหมายนี้ และไม่ยอมให้อุปสรรคใดมาหยุด
หรือยับยั้งความกระตือรือร้นในการแพร่ธรรมของท่าน

เปาโลปฏิบัติพันธกิจแพร่ธรรมของท่านระหว่างการเดินทางสามครั้งระหว่าง ค.ศ. 47-49 และ 57-58 
ซึ่งเป็นการเดินทางทางบกถึง 7,800 ก.ม. และ 9,000 ก.ม. ทางทะเล ทั้งที่ท่านป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่เรื้อรัง 
(เทียบ กท 4:13) ท่านและเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะทิโมธี 
ได้ก่อตั้งพระศาสนจักรขึ้นในเมืองกาลาเทีย เอเฟซัส โคโลสี ในเอเซีย 
เมืองเธสะโลนิกา และฟิลิปปี ในมาซิโดเนีย และเมืองโครินธ์ ในอาคายา 
ท่านมีเป้าหมายจะเทศน์สอนไปทั่วโลก ท่านจึงออกเดินทางจากอันทิโอก (กจ 13:1-3) 
ด้วยความหวังว่าจะไปให้ถึงสเปน ซึ่งเป็นสุดขอบโลกที่รู้จักกันในเวลานั้น (เทียบ รม 15:28)

ท่านใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนเทศน์สอน และทำงาน (เทียบ 1 ธส 2:9) ประกอบพิธีกรรม (เทียบ กจ 20:7) 
และสอนคำสอน (เทียบ กจ 16:31-34; 18:8; 20:20; 28:16-24) และให้ผู้อื่นเขียนจดหมายตามคำบอกของท่าน 
(เทียบ รม 16:22; 1 คร 5:9; 2 คร 7:8; 10:9-10; คส 4:16; 1 ธส 5:27; 2 ธส 2:2, 15; 3:14)

ธรรมประเพณียุคแรกถือว่านักบุญเปาโลเป็นมรณสักขี เมื่อ ค.ศ. 67 ใกล้ เทร ฟอนตาเน (Tre Fontane) 
บริเวณชานเมืองของกรุงโรม คริสตชนได้ฝังร่างของท่านในสถานที่ซึ่งต่อมาได้สร้างวิหารนักบุญเปาโลขึ้น 
โดยไม่มีกำแพงล้อมรอบ ก่อนตาย ท่านเขียนจดหมายถึงทิโมธีว่า "ชีวิตของข้าพเจ้ากำลังจะถูกถวายเป็นเครื่องบูชาอยู่แล้ว 
ถึงเวลาแล้วที่ข้าพเจ้าจะต้องจากไป ข้าพเจ้าต่อสู้มาอย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งมาถึงเส้นชัยแล้ว ข้าพเจ้ารักษาความเชื่อไว้แล้ว 
ยังเหลืออยู่ก็เพียงมงกุฎแห่งความชอบธรรมซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างเที่ยงธรรมจะประทานให้ข้าพเจ้าในวันนั้น 
และไม่ใช่เพียงให้ข้าพเจ้าเท่านั้น แต่จะประทานให้ทุกคนที่เฝ้ารอคอยด้วยความรักต่อการแสดงพระองค์ด้วยเช่นเดียวกัน” (2 ทธ 4:6-8)